ตำนานหมากรุก

      บทความที่อัญเชิญมาเป็นอันดับแรก เป็นพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงพระนิพนธ์คำนำของหนังสือตำรากลหมากรุก  ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย เมื่อ พ.ศ. 2465 มีเนื้อหาแสดงที่มาของตำรากลหมากรุกไทยเล่มดังกล่าว และจะได้เป็นที่ทราบว่า ตำนานหมากรุก ที่หนังสือหลายเล่มอ้างอิงถึงนั้น เป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน กับที่มาของเพลงยาวกระบวรไล่หมากรุกของหลวงธรรมาภิมณฑ์ด้วย จึงขอคัดคำนำ อธิบายตำนานหมากรุก และเพลงยาวกระบวรไล่หมากรุกมาไว้ทั้งหมด

      สำหรับเพลงยาวกระบวรไล่หมากรุกนั้น ในหนังสือตำรากลหมากรุก ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณไม่มีบทไหว้ครู ซึ่งบทไหว้ครูค้นได้จากหนังสือสนุกกับหมากรุกไทย โดยวินัย ลิ้มดำรงค์ชิต พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อักษรวัฒนา ไม่แจ้งปีที่พิมพ์ จึงได้นำเสนอเรียงกันไปเป็นลำดับ      มีข้อสังเกตว่าในหนังสือสนุกกับหมากรุกไทย  ได้ให้ข้อมูลผู้เขียนเพลงยาวเกี่ยวกับหมากรุกว่าเป็น หลวงธรรมาภิพัฒน์ (ถึก จิตถึก) ส่วนตำราหมากรุก ฉบับหอพระสมุด  วชิรญาณเป็น หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ซึ่งน่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน      เนื้อหาสำคัญในเพลงยาวกระบวรไล่หมากรุกนั้น พอสรุปได้ 3 ตอน ตอนแรก เป็นการไหว้ครู ตอนที่สอง จะบอกกติการการนับตามศักดิ์หมาก  ตอนที่สาม จะบอกกติกาการนับตามศักดิ์กระดานว่า ถ้าสองฝ่ายมีหมากอะไร  จะต้องไล่ให้จนในกี่ที มิฉะนั้นถือว่าเสมอกัน และบางกรณีที่ต่างฝ่ายมีหมากตามกำหนด จะมีชื่อเรียกให้ด้วยตามลักษณะหมากที่สองฝ่ายมีอยู่ เช่น  หอกข้างแคร่  ลูกติดแม่  ควายสู้เสือ เป็นต้น      พระราชนิพนธ์ คำนำหนังสือตำราหมากรุกฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ที่อัญเชิญมามีดังนี้      ตำรากลหมากรุกที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คัดมาจากตำราที่ได้รวบรวมไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครบ้าง คัดจากตำรา  ฉบับของพระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) ซึ่งมีแก่ใจให้มาเมื่อหอพระสมุด ฯ คิดจะพิมพ์ตำราเล่มนี้บ้าง ได้วานขุนประสาทศุภกิจ คือ มหาแถม ที่มีชื่อเสียงในการเดินหมากรุกนั้น เปนผู้รวบรวมแลคิดกุญแจแก้กลจนสำเร็จตลอดทั้งเรื่อง      แต่การที่จะพิมพ์ตำรากลหมากรุก ยากกว่าพิมพ์หนังสืออื่น เพราะต้องพิมพ์เป็นรูปภาพหมากรุกเปนพื้น จำต้องทำแบบตัวหมากรุกแลรูปกระดาน ทั้งต้องพิมพ์ซ้ำ ๒ ครั้งทุกน่า จะต้องลงทุนมากกว่าพิมพ์หนังสืออย่างอื่น ซึ่งเล่มเปนขนาดเดียวกัน ยังไม่มีผู้ใดรับพิมพ์จึงได้รั้งรอมา  บัดนี้ท่านเจ้าพระยาอภัยราชา มหายุติธรรมธร (ม.ร.ว. ลบ สุทัศน์ ณ กรุงเทพ) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมรับจะพิมพ์ กรรมการหอพระสมุด ฯ จึงจัดการพิมพ์ให้ด้วยความยินดี แลขอบใจท่านเจ้าพระยาอภัยราชา ฯ แลเชื่อว่าท่านทั้งปวงที่ได้ตำรานี้ไป คงจะรู้สึกขอบใจไม่มีที่เว้น หนังสือตำรากลหมากรุกที่พิมพ์ครั้งนี้ ได้พิมพ์เปนชุด ๒ เล่ม คือตัวตำรากลหมากรุกเล่ม ๑ กุญแจแก้กล หมากรุกเล่ม ๑ ด้วยคิดเห็นว่าถ้าพิมพ์รวมกันไว้ในเล่มสมุดเดียวกัน จะพาให้กลจืดเสีย เพราะใครคิดกลไม่ออก ก็จะพลิกไปหากุญแจเอาง่าย ๆ ความสนุกอันควรจะได้ ในการคิดแก้กลหมากรุกด้วยปัญญา ก็จะเสื่อมคลายไป ถ้าเย็บเปน ๒ เล่มไว้เช่นนี้ เหมือนเปิดไว้ให้เล่นได้ตามใจทั้ง ๒ ทาง  ถ้าจะให้คิดกันเล่นให้สนุก ก็ส่งให้แต่เล่มตำรา เก็บซ่อนเล่มกุญแจเสีย ต่อเกิดขัดข้องหรือโต้แย้งกันไม่ตกลง จึงค่อยขยายกุญแจออกมา ถ้าใครไม่รักสนุกในการคิดแก้กล เห็นเสียเวลา อยากจะรู้แต่ว่าเขาแก้กันอย่างไร จะเอาเล่มกุญแจมากางดูกำกับตำราไปก็ได้เหมือนกัน อนึ่ง ข้าพเจ้าได้พบเรื่องตำนานหมากรุก แต่งไว้ในภาษาอังกฤษมีอยู่ในหอพระสมุด ฯ เล่ม ๑ นึกว่าถ้านำความมาแสดงในหนังสือนี้ด้วย ก็เห็นจะพอใจของท่านผู้อ่าน จึงได้เก็บเนื้อความมาเรียบเรียงแต่โดยย่อ พอให้ทราบเค้าเงื่อน พิมพ์ไว้ข้างท้ายคำนำนี้ กับเพลงยาวของหลวงธรรมาภิมณฑ์ แต่งว่าด้วยบัญญัติการไล่หมากรุกด้วยอีกเรื่อง ๑  หวังใจว่าท่านทั้งหลายที่ได้สมุดชุดนี้ไป จะพอใจทั่วกัน.

ดำรงราชานุภาพ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ )
สภานายก.
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๕

      การเล่นหมากรุกปรากฎว่ามีมาในประเทศอินเดียช้านานนับด้วยพันปี  พวกชาวอินเดียอ้างว่าหมากรุกเกิดขึ้น เมื่อครั้งพระรามไปล้อมเมืองลังกา นางมณโฑเห็นทศกรรฐ์เดือดร้อนรำคาญ ในการที่ต้องเปนกังวลคิดต่อสู้สงคราม ไม่มีเวลาเป็นผาศุก นางรู้ว่าจะชักชวนทศกรรฐ์ ให้พักผ่อนด้วยประการอย่างอื่น ก็คงไม่ยอม จึงเอากระบวรการสงคราม  คิดทำเปนหมากรุกขึ้น ให้ทศกรรฐ์เล่นแก้รำคาญ  มูลเหตุที่จะเกิดมีหมากรุก พวกชาวอินเดียกล่าวกันมาดังนี้ แต่ชื่อที่เรียกว่าหมากรุก เป็นคำของไทยเราเรียก พวกชาวอินเดียเขาเรียกหมากรุกว่า “จตุรงค์  เพราะเหตุที่คิดเอากระบวรพล ๔ เหล่า ทำเปนตัวหมากรุก คือหัสดีพลช้าง (ได้แก่โคน) ๑ อัศวพลม้า ๑ โรกะพลเรือ ๑ (พลเรือนั้นอธิบายว่าเพราะคิดขึ้นที่เกาะลังกา จึงใช้เรือแทนรถ) ปาทิกะพลราบ (ได้แก่เบี้ย) ๑ มีราชา (คือขุน) เปนจอมพล ตั้งเล่นกันบนแผ่นกระดานอันปันเปนตาราง ๖๔ ช่อง (อย่างกระดานหมากรุกทุกวันนี้)

            วิธีเล่นหมากรุกชั้นเดิมที่เรียกว่าจตุรงค์นั้น ไม่เหมือนอย่างที่เล่นกันในชั้นหลัง มีอธิบายอยู่ในหนังสือมหาภารตะ ว่าปันตัวหมากรุกเปน ๔ ชุด ย้อมสีต่างกัน สีแดงชุด ๑  สีเขียวชุด ๑  สีเหลืองชุด ๑  สีดำชุด ๑ ในชุด ๑นั้น
            ตัวหมากรุกมีขุนตัว ๑  ช้าง (โคน) ตัว ๑  ม้าตัว ๑  เรือตัว ๑  เบี้ย ๔ ตัว รวมเปนหมากรุก ๘ ตัว  สมมตว่าเป็นกองทัพของประเทศ ๑ ตั้งตัวหมากรุกในกระดานดังนี้:-

            ชุดทางขวามือสมมตว่าอยู่ประเทศทางทิศตวันออก ชุดข้างล่างว่าอยู่ประเทศทิศใต้ ชุดข้างล่างว่าอยู่ประเทศทิศใต้ พวกทางซ้ายมือว่าอยู่ประเทศทิศตวันตก ชุดข้างบนว่าอยู่ประเทศทิศเหนือ คนเล่นก็ ๔ คน ต่างถือหมากรุกคนละชุด แต่กระบวรเล่นนั้น ๒ พวกที่อยู่ทแยงมุมกัน (คือพวกขาวในรูปนี้) เปนสัมพันธมิตรช่วยกัน ๒ พวก (ดำ) ซึ่งเปนสัมพันธมิตรกันอีกฝ่ายหนึ่ง
            ลักษณเดินตัวจตุรงค์นั้น ขุน ม้า เบี้ย เดินอย่างเดียวกับหมากรุกที่เราเล่นกัน แต่ช้างเดินอย่างเราเดินเรือทุกวันนี้ ส่วนเรือนั้นเดินทแยง (อย่างเม็ด) แต่ให้ข้ามตาใกล้เสียตา ๑ แต่การที่จะเดินต้องใช้ทอดลูกบาตร ลูกบาตรนั้นทำเปนสี่เหลี่ยมแท่งยาว ๆ  มีแต่ ๔ ด้าน หมาย ๒ แต้มด้านหนึ่ง ๓  แต้มด้านหนึ่ง ๔  แต้มด้านหนึ่ง ๕  แต้มด้านหนึ่ง คนเล่นทอดลูกบาตรเวียนกันไป ถ้าทอดได้แต้ม ๕ บังคับให้เดินขุนฤาเดินเบี้ย  ถ้าทอดได้แต้ม ๔ ต้องเดินช้าง แต้ม ๓ ต้องเดินม้า แต้ม ๒ ต้องเดินเรือ แต่จะเดินไปทางไหนก็ตามใจ เว้นแต่เบี้ยนั้นไปได้แต่ข้างน่าทางเดียว (อย่างหมากรุกที่เราเล่นกัน) วิธีเล่นหมากรุกชั้นเดิมที่เรียกว่าจตุรงค์มีเค้าดังกล่าวมานี้
            ครั้นจำเนียรกาลนานมาถึงเมื่อราว พ.ศ. ๒๐๐ ปี ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินในอินเดียองค์๑ ชอบพระหฤทัยในการสงครามยิ่งนัก ตั้งแต่เสวยราชย์ก็เที่ยวรบพุ่งบ้านเมืองที่ใกล้เคียง จนได้เปนมหาราชไม่มีเมืองใดที่จะต่อสู้ พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้น ครั้นไม่มีโอกาศที่จะเที่ยวทำสงครามอย่างแต่ก่อน ก็เกิดเดือดร้อนรำคาญพระหฤไทย จึงปฤกษามหาอำมาตย์คนหนึ่ง ชื่อว่า สัสสะว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะมีความศุข มหาอำมาตย์คนนั้นคิดว่าจะแก้ด้วยอุบายอย่างอื่น พระเจ้าแผ่นดินนั้น ก็คงจะยังอยากหาเหตุเที่ยวรบพุ่งอยู่นั่นเอง ที่ไหนบ้านเมืองจะได้มีสันติศุข จึงเอาการเล่นจตุรงค์มาคิดดัดแปลงให้เล่นกันแต่ ๒ คน แลเลิกวิธีทอดลูกบาตรเสียให้เดินแต้มโดยใช้ปัญญาความคิดเอาชนะกันเหมือน ทำนองอุบายการสงคราม แล้วนำขึ้นถวายพระเจ้าแผ่นดิน ชวนให้ทรงแก้รำคาญ พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นทรงเล่นจตุรงค์อย่างที่มหาอำมาตย์สัสสะคิดถวาย ก็เพลิดเพลินพระหฤทัย หายเดือดร้อนรำคาญ บ้านเมืองก็เป็นศุขสมบูรณ์ (ตำนานเรื่องมหาอำมาตย์สัสสะคิดแก้การเล่นจตุรงค์ เล่ากันเปนหลายอย่าง อ้างกาลต่างยุคกัน เลือกมาแสดงในที่นี้แต่เรื่องเดียว)
            กระบวรหมากรุกที่ว่ามหาอำมาตย์สัสสะคิดใหม่นั้นคือรวมต้วหมากรุกซึ่งเดิมเปน ๔ พวกนั้นให้เปนแต่ ๒พวก ตั้งเรียงกันฝ่ายละฟากกระดาน (ทำนองเดียวกับหมากรุกที่เราเล่นกันทุกวันนี้) เมื่อจัดเป็นกระบวรทัพแต่ ๒ ฝ่ายจะ
มีพระราชาฝ่ายละ ๒ องค์ไม่ได้ จึงลดขุนเสีย ๒ ตัว คิดเป็นตัวมนตรีขึ้นแทน (คือตัวที่เราเรียกกันว่าเม็ด) หมากรุกอย่างที่มหาอำมาตย์สัสสะคิดแก้ไขนี้
            ต่อมาแพร่หลายไปถึงนานาประเทศ พวกชาวประเทศอื่นไปคิดดัดแปลงแก้ไขตามนิยมกันในประเทศนั้น ๆ อีกชั้นหนึ่ง หมากรุกที่เล่นกันในนานาประเทศทุกวันนี้จึงผิดเพี้ยนกันไป แต่เค้ามูลยังเปนอย่างเดียวกัน เพราะต้นแบบแผนได้มาแต่อินเดียด้วยกันทั้งนั้น เรื่องตำนานหมากรุกที่กล่าวมานี้ ได้อาศรัยเก็บความในหนังสือเรื่องตำนานหมากรุกของดอกเตอร ดันคัน ฟอบส์ มาแสดงพอให้ทราบเค้าความ.
            อนึ่งมีกลอนเพลงยาวว่าด้วยกระบวรไล่หมากรุก หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก)ได้แต่งขึ้นในหอพระสมุด ฯ บท ๑ เห็นควรจะพิมพ์รักษาไว้มิให้สูญเสีย จึงนำมาพิมพ์ไว้ในท้ายตำนานนี้ด้วย

ใส่ความเห็น